ฉากทรรศน์หากไม่นำเกมการศึกษามายกระดับการศึกษาไทย

………..1.เพิ่มช่องว่างทางสมรรถนะทางการศึกษาด้านเทคโนโลยีการเรียนการสอนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ระเบียงการศึกษาให้เพิ่มมากขึ้น โรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ ใช้ความได้เปรียบในความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อดิจิทัลทางการศึกษาในการโฆษณาและปรับค่าธรรมเนียมการศึกษาโดยไม่มีเพดานความเหมาะสม เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างครูในเมืองกับครูตามชนบทที่โอกาสเข้าถึงแหล่งความรู้น้อยกว่า ครูส่วนใหญ่ในท้องถิ่นธุรกันดารขาดองค์ความรู้ในการทำผลงานวิชาการในการเลื่อนวิทยฐานะของตน และ ศธ. มีข้อจำกัดของระบบบริหารราชการมากมายที่ถูกอ้างถึงปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

………..2.เพิ่มช่องว่างทางสมรรถนะทางการศึกษาด้านผู้เรียน หากไม่มีการยกระดับโรงเรียนขนาดเล็กในด้านการเรียนการสอนและสื่อทางเทคโนโลยีการศึกษา ผู้เรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีย่อมได้เปรียบและเข้าถึงการศึกษาที่มีความพร้อมกว่า อนาคตสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศและมีโอกาสประกอบอาชีพที่มีรายได้สูงมากกว่า ผู้เรียนที่มีฐานะยากจนยิ่งขาดโอกาสในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ หรือมีโอกาสประกอบอาชีพที่มีรายได้สูงเพียงพอที่จะยกระดับฐานะของครอบครัว นั่นคือ คนจนยิ่งจน คนรวยยิ่งมั่งคั่งจากต้นทุนชีวิตที่ดีกว่า

………..3.งบประมาณด้านสื่อดิจิทัลของภาครัฐเพื่อการศึกษาสูญเปล่า เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างผลิตสื่อการเรียนการสอนจากส่วนกลางที่ไม่ตรงตามความต้องการ สภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ที่ห่างไกลหรือโรงเรียนในพื้นที่ระเบียงการศึกษา

………..4.ไม่สามารถสร้างเครือข่ายนักเทคโนโลยีด้านการผลิตสื่อดิจิทัลทางการศึกษาในการขับเคลื่อนยกระดับสมรรถนะของบุคลากรครูและการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

………..5.สถานศึกษา โรงเรียนไม่สามารถควบคุมการจัดซื้อสื่อดิจิทัลทางการศึกษาจากบริษัทเอกชนภายนอกได้หากไม่ผลิตบุคลากรครูแกนนำในการผลิตสื่อดิจิทัลเพื่อการศึกษาใช้เองภายในสถานศึกษาหรือโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศ ที่ขาดงบประมาณในการจัดหาสื่อดิจิทัลเพื่อการศึกษา นับเป็นการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาตนเอง

………..6.ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการศึกษาไทย เช่น กสทช.ศธ. หน่วยงานเอกขนที่ทำโครงการ CSR เป็นต้น

………..7.สูญเสียเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเสียงบประมาณโครงสร้างพื้นฐาน ไม่คุ้มค่า สร้างคุณค่าของระบบไม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไป มูลค่าลดลง และเกิดความเสียเปล่า

………..8.ปัญหาการจัดเก็บสื่อกระดาษในชนบท และความเสี่ยงต่อความเสียหายอันมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติความชื้น การฉีกขาด น้ำท่วม ฝุ่น ไร และภัยจากสัตว์กัดแทะจำพวกปลวกต่อเอกสารเก่า ซึ่งเป็นภัยต่อสุขภาพของเด็กโดยตรงจากการสัมผัส เมื่อห้องสมุดเสียหายก็ต้องสร้างใหม่ด้วยทุนการซ่อมแซมที่สูง เพราะเอกสารความรู้บางรายการมีลิขสิทธิ์

………..9.ครูในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ พื้นที่ขยายโอกาส พื้นที่ระเบียงการศึกษายังมีความจำเป็นและข้อจำกัดในการที่ต้องใช้วิธีสอนเดิม ๆ เช่น การท่องจำ โดยไม่มีเครื่องมืออื่น ๆ ที่ใช้งานได้จริงมาสนับสนุนการะบวนการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนและโดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ

………..10.ไม่สามารถผลิตสื่อเชิงพาณิชย์หรือผลิตภัณฑ์ทางการศึกษาแข่งขันในระดับนานาชาติได้ เช่น ญี่ปุ่นพัฒนาสื่อลูกคิด หลักสูตรคุมอง รูปแบบการเรียนรู้ตามแบบซาคาโมโต้ สหกิจโรงงาน วิทยาลัยในโรงงานโตโยต้า บันไดของเล่นพัฒนาการเรียนรู้ แบบฝึกคณิตศาสตร์ร้อยช่องสำหรับเด็กญี่ปุ่น ซอฟต์แวร์อะนิเมะทางการศึกษาต่าง ๆ มากมายที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ประเทศสิงคโปร์ ได้เป็นฮับการการศึกษาทางไกลเชื่อมต่อแคมปัสมากมายของมหาวิทยาลัยตะวันตกกับมหาวิทยาลัยตะวันออก เวียดนามและจีนแข่งขันกันผลิตสื่อทางคณิตศาสตร์ในรูปแบบของเกมกระดานและการ๋ดบอร์ด อินเดียพัฒนาเผยแพร่หลักการคณิตคิดเร็วด้วยหลักการโบราณ เวทคณิต (Vedic Mathatic) แต่ในประเทศไทยยังไม่มีแนวทางทีชัดเจนเกี่ยวกับผลิคภัณฑ์ทางการศึกษา

………..11.หากครูขาดสมรรถนะในการสอน การสร้างแรงจูงใจ แรงบันดาลใจในการใฝ่รู้ให้กับเด๊กยากจน หรือขาดโอกาส เด็กในอนาคตก็จะขาดทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ดังคำกล่าวที่ว่า ครูไม่มีทักษะเหล่านี้แล้วจะเอาทักษะเหล่านี้ที่ไหนให้เด็ก พลเมืองในอนาคตของไทยก็จะขาดจิตสำนึกของการใฝ่รู้ เนื่องจาก ครูขาดความตระหนักในคุณภาพของตนเอง

………..12.แนวโน้มผลการเรียนของเด็กในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ พื้นที่ขยายโอกาส พื้นที่ระเบียงการศึกษา มีแนวโน้มตกต่ำลง ในขณะที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กในโรงเรียนที่เข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศเพียบพร้อมมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และทักษะด้านภาษาอังกฤษ นับเป็นช่องว่างที่ห่างไกลกันออกไปเรื่อย ๆ

………..13.ครูขาดสมรรถนะในการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการศึกษา จัดเป็นอุปสรรคสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาและแผนปฏิรูปประเทศในยุคดิจิทัล 4.0 เนื่องจากไม่พบนโยบายการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมหรือการลงไปพัฒนาที่ตัวครูอย่างจริงจังผ่านข้ออ้างอุปสรรคมากมายที่ดูเลื่อนลอย

………..การนำเกมการศึกษามาใช้ในชั้นเรียนจะเกิดประโยชน์อย่างไร..โดยลำดับตามความคาดหวังของโครงการและความต้องการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา


ประโยชน์ต่อครูในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ขยายโอกาส พื้นที่ระเบียงการศึกษา


………..(1) ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส ทักษะสมัยใหม่ การพัฒนาวิชาชีพครู ลดช่องว่างของสภาพแวดล้อมทางการเรียนด้านการประยุกต์สารสนเทศทางการศึกษา

………..(2) สนับสนุนให้ครูได้ประสบการณ์ตรง (Direct Experience) ในการพัฒนาสร้างสื่อดิจิทัลเพื่อการศึกษาและการประยุกต์ใช้จริงแก่นักเรียนของตนทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียนในฐานะสื่อการเรียนการสอนหลักหรือสื่อซ่อมเสริม เนื่องจากได้เรียนรู้ด้วยการลงมือทดลองและฝึกปฏิบัติ (Learning by doing)

………..(3) สนับสนุนให้ครูสามารถสอดแทรกคุณลักษณะที่พึงประสงค์ผ่านเหตุการณ์และตัวละครในเกมดิจิทัลเพื่อการศึกษาได้อย่างง่ายดาย และผู้เรียนสามารถซึมซับได้อย่างรวดเร็ว เช่น ความอดทน ความเสียสละ ความซื่อสัตย์ อาจให้มีการอภิปรายหลังการเล่น

………..(4) สนับสนุนให้ครูเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเองหรือกับเครือข่ายชุมชนเพื่อนครูผ่านการสื่อสารทางสารสนเทศด้วยเครื่องมือสังคมออนไลน์ สนับสนุนให้ครูออกแบบ สร้างสรรค์ Creativity เกมดิจิทัลเพื่อการศึกษาร่วมกับกิจกรรมการเรียนรู้แบบอื่น ๆ จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วย ตนเองของผู้เรียนมากกว่าการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้โดยใช้เครื่องมือตำราแบบเรียนหน้าชั้นเรียนเพียงอย่างเดียว

………..(5) สนับสนุนให้ครูมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้งานสื่อการเรียนการสอน สื่อดิจิทัลเพื่อการศึกษา ประกอบการเรียนรู้จากเดิมที่มีแนวคิดว่าการพัฒนาหรือการใช้สื่อการเรียนการสอนเป็นภาระอย่างหนึ่งของครู

………..(6) สนับสนุนให้ครูใช้เกมดิจิทัลเพื่อการศึกษาเข้าสู่กระบวนการทำวิจัยเพื่อเป็นผลงานวิชาการ ยกระดับวิทยฐานะของครู พื้นที่ขยายโอกาส พื้นที่ระเบียงการศึกษา อันเป็นขวัญกำลังใจที่สำคัญยิ่งของครูในพื้นที่ห่างไกล เนื่องจาก ครูอาจารย์เป็นวิชาชีพที่ได้รับสิทธิพิเศษ ส่วนลด ในเครื่องมือทางเทคโนโลยีมากมายที่ได้รับยกเว้นกิจกรรมปราศจากผลกำไรหรือใช้ในการศึกษา เช่น license account developer ของ Apple หรือ license Software บางโปรแกรมของ Microsoft เป็นต้น การที่ครูไม่นำสิทธิประโยชน์เหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจัดเป็นความสูญเปล่าทางการศึกษาและผู้เรียนสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างน่าเสียดาย

………..(7) สนับสนุนให้ครูสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป เมื่อสังคมโลกเปลี่ยนไป ผู้เรียนไม่ได้เรียนรู้จาก โรงเรียนเพียงแห่งเดียว แต่สามารถเรียนรู้ได้จากแหล่ง เรียนรู้ภายนอกที่เป็นสังคมรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงความรู้ได้โดยง่ายทำให้ความรู้เดิมของนักเรียนของนักเรียนแต่ละคนค่อนข้างแตกต่างกัน เพราะนักเรียนสามารถค้นหาความรู้ได้ด้วยตัวเขาเอง อยู่ที่ใครจะกระตือรือร้นในการแสวงหามากกว่ากัน เมื่อเป็นเช่นนี้ครูควรตรวจสอบความรู้เดิมของนักเรียนแต่ละคน และพยายามแก้ไขความรู้ที่ผิด เพื่อความรู้ผิดๆ จะได้ ไม่ติดตัวเขา ซึ่งการตรวจสอบ ความรู้เดิมของผู้เรียนเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการ วิเคราะห์ผู้เรียนเพื่อออกแบบระบบการสอน (Instruction System Design) ซึ่งไม่ว่าจะยุคสมัยใดการออกแบบระบบการสอนยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ครูต้องปฏิบัติ เพียงแต่ต้องปรับกระบวนการให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย

………..(8) สนับสนุนให้ครูต้องมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอน Computer (ICT) Integration เนื่องจากกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยีจะช่วยกระตุ้นความสนใจให้กับนักเรียน และหากออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยส่งเสริมความรู้และทักษะที่ต้องการได้เป็นอย่างดี ครูสามารถใช้เกมดิจิทัลเพื่อการศึกษาเพื่อออกแบบบทบาทในการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ในลักษณะการเรียนรู้แบบร่วมมือ Collaboration ระหว่างนักเรียนกับครูและนักเรียนกับนักเรียนด้วยกัน เพื่อฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม การเรียนรู้ด้วยตนเองและทักษะ สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ครูอาจนำเทคโนโลยีเกมดิจิทัลเพื่อการศึกษาเหล่านั้น มาปรับใช้ในการแก้ปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจของเด็กที่มีต่อเนื้อหาในลักษณะการเรียนซ่อมเสริมในเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ โดยอาจจะจัดทำเว็บไซต์ที่รวบรวมเกมดิจิทัลเพื่อการศึกษารายวิชาต่างๆไว้ในเว็บเดียว เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เข้าไปทบทวนบทเรียนได้

………..(9) สนับสนุนให้ครูได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มกำลัง ครูต้องมีมุทิตาจิตต่อนักเรียน Caring ต้องแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใยอย่างจริงใจต่อนักเรียนเพื่อให้นักเรียนเกิดความเชื่อใจ ส่งผลให้เกิดสภาพการเรียนรู้ตื่นตัวแบบผ่อนคลาย ซึ่งเป็นสภาพที่นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด


ประโยชน์ต่อผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ขยายโอกาส พื้นที่ระเบียงการศึกษา


………..(1) เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเพิ่มสูงขึ้น จากสิ่งที่ยากเป็นง่าย กระชับ และรวดเร็ว จูงใจเสริมสร้างการใฝ่รู้ด้วยสื่อเกมจิทัลเพื่อการศึกษาอันมีความเหมาะสมกับวัยพัฒนาการตามธรรมชาติของผู้เรียนและมีสมรรถนะในการสร้างความคงทนความรู้สูง เพื่อเร้านักเรียนให้มีความสนใจในบทเรียนอย่างต่อเนื่อง นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างกระตือรือร้นและใฝ่รู้ ตามการบวนการเรียนรู้แบบเร่งการเรียนรู้(Accelerated Learning ) และการศึกษาตลอดเวลาชีวิต กล้าแสดงออกทางความคิด กล้าตัดสินใจและการแสดงบทบาทสมมุติอย่างสมควรสมเหตุสมผลตามแนวทางที่ดีและเป็นที่พึงประสงค์ของสังคม

………..(2) ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง Constructionist โดยเชื่อมโยงความรู้เดิมที่มีอยู่ภายในเข้ากับการได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ดังนั้น ครูจึงควรนำแนวคิดนี้ไปพัฒนาวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ที่คงทน และเกิดทักษะที่ต้องการจากการศึกษาจากสื่อเกมดิจิทัลทางการศึกษา