คลังสื่อเพื่อการศึกษาและความสำคัญ

…………พัฒนาการของสังคมมนุษย์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถแบ่งได้เป็นยุคของสังคม 3 ยุค คือ ยุคที่ 1 ยุคสังคมเกษตร เป็นยุคสังคมที่มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจ การเมือง เพื่อการยังชีพให้อยู่รอดปลอดภัย โดยอาศัยพลังอำนาจที่เชื่อมั่นกับธรรมชาติ หรือเรียกว่ายุค “อำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ”  ยุคที่ 2 ยุคสังคมอุตสาหกรรม เป็นยุคที่มีการคิดค้นและพัฒนาวิทยาการหรือที่รู้จักในสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ มีนักวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ในสังคมให้ดีขึ้นกว่าสังคมเกษตร

เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก ยุคที่ 3 ยุคสังคมดิจิทัล เป็นยุคสังคมเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีการคิดค้นวิทยาการเชิงวิทยาศาสตร์ เกิดระบบอินเทอร์เน็ต (Internet) ที่เรียกว่า “เวิลด์ไวด์เว็บ“ (World Wide Web) จนทำให้สังคมโลกกลมกลืนเสมือนเป็นโลกไร้พรมแดน

………...ยุคสังคมดิจิทัล หรือโลกยุคใหม่ของสื่อดิจิทัล (Digital Sphere) อีกไม่เกินหนึ่งหรือสองทศวรรษสื่อดิจิทัลจะครอบคลุมร้อยละ 80 ของสื่อทั้งหมดที่ผู้บริโภคได้บริโภคกันอยู่ในปัจจุบัน จะเป็นการนำเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง สื่อที่เกิดขึ้นใหม่ในปัจจุบันนี้เป็นสื่อในรูปแบบดิจิทัลทั้งสิ้น เช่น สื่อการเรียนการสอน โทรทัศน์ดิจิทัล วิทยุออนไลน์ สื่อกลางแจ้ง อินเทอร์เน็ต อิเล็กทรอนิคส์ หรือ โทรศัพท์มือถือ  เป็นต้น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่ดำรงชีวิตอยู่ในเมืองจะเรียกว่า สกรีนเอจ (Screen age) คือกลุ่มคนที่เกิดมาพร้อมกับการมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อดิจิทัล เติบโตขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง 

………...แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2552-2556 ได้กำหนดให้การพัฒนาไอซีที มีเป้าหมายเชิงพัฒนาสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ โดยการกำหนดวิสัยทัศน์ คือ สังคมอุดมปัญญา เป็นสังคมที่มีการพัฒนาและใช้ไอซีทีอย่างชาญฉลาด โดยใช้แนวปฏิบัติของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนทุกระดับมีความเฉลียวฉลาด (Smart) และรอบรู้สารสนเทศ (Information literacy) สามารถเข้าถึงและใช้สารสนเทศอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนและสังคม มีการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีธรรมาภิบาล (Smart governance) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้และนวัตกรรมอย่างยั่งยืนมั่นคง (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, 2552)

………..พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 หมวด 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มาตรา 65 ให้มีการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านผู้ผลิต และผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการผลิต รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ มาตรา 66 ผู้เรียนมีสิทธิได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในโอกาสแรกที่ทำได้ เพื่อให้มีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มาตรา 67 รัฐต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมทั้งการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้เกิดการใช้ที่คุ้มค่าและเหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้ของคนไทย (กระทรวงศึกษาธิการ, 2553)

………..แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2554-พ.ศ. 2556 โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ไอซีทีเพื่อการศึกษาไว้ดังนี้ สร้างกำลังคนให้มีศักยภาพในการใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ มีธรรมาภิบาล คุณธรรม จริยธรรม วิจารณญาณและรู้เท่าทัน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย สนับสนุนการเรียนการสอน ด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาของประเทศไทย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีเพื่อสนับสนุนการศึกษา ใช้ไอซีทีเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการและการบริการด้านการศึกษา ซึ่งจะเอื้อต่อการสร้างธรรมาภิบาลของสังคม (กระทรวงศึกษาธิการ, 2554)

………..สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ทำหน้าที่ในการรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาได้กำหนดตัวบ่งชี้ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม พ.ศ. 2554-2558) สำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตัวบ่งชี้ 3.1 ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้จากการอ่านและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ตัวบ่งชี้ 6.2 กระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูได้กำหนดประเด็นครูสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยให้มีการประเมินการจัดเตรียมและใช้สื่อให้เหมาะสมกับกิจกรรม นำภูมิปัญญาท้องถิ่น เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ในการจัดการเรียนการสอนของครูทุกคน หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ได้มุ่งให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ 5 ประการ โดยได้กำหนดสมรรถนะที่เกี่ยวข้อกับการใช้ไอซีที 1 สมรรถนะคือ ความสามารถในการเลือกและใช้เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ และมีทักษะกระบวนการทางเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคมในด้านการเรียนรู้ การสื่อสารการทำงาน การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสมและมีคุณธรรม (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา, 2555)

.……….ดังนั้นรูปแบบของการศึกษาต้องได้รับการปรับปรุงเพื่อตอบสนองต่อการเรียนรู้ดังกล่าวมากที่สุดจากรูปแบบการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม (Traditional education) มาสู่รูปแบบการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีที่นำมาใช้คือการเรียนการสอนผ่านเครือข่าย ในรูปแบบต่าง ๆ ที่กำลังนำมาใช้กับการศึกษาของไทย ด้วยความคิดที่ว่าการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษาที่สามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น การเรียนการสอนผ่านเครือข่ายหรือผ่านระบบออนไลน์ (Online instruction) เป็นทางเลือกใหม่ในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษา การเรียนการสอนผ่านเครือข่ายเป็นการเรียนผ่านทางคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Computer network) ทั้งหลายรวมไปถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีอยู่นำเข้ามาเป็นตัวช่วยในการเพิ่มความสะดวกสบายในการเรียน การวัดผล และการจัดการการศึกษาทั้งหมด นอกจากนั้นลักษณะของการเรียนการสอนผ่านเครือข่าย ยังมีลักษณะเป็นการเรียนแบบออนไลน์ (Online) ซึ่งหมายถึง ลักษณะของข้อมูลที่เป็นข้อมูลทางคอมพิวเตอร์หรืออิเล็กทรอนิกส์อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้การเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นการเรียนที่สามารถโต้ตอบกันได้เหมือนการเรียนในห้องเรียนปกติได้ (Interactive technology)

…….....ในภาวะที่รูปแบบการศึกษากำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้มาจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง มีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทำให้การศึกษาในปัจจุบันนี้สามารถติดต่อสื่อสารและเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาการศึกษาและการฝึกอบรมทำให้เกิดรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เรียกว่า อีเลิร์นนิง (Electronic Learning) ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสื่ออิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่เข้ามา เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่จำกัดเวลา และสถานที่ (Anywhere-Anytime Learning)  เมื่อแนวความคิดในเรื่องระบบการเรียนแบบอีเลิร์นนิงได้ขยายกว้างออกไป จึงก่อให้เกิดความต้องการที่จะประยุกต์ใช้หรือนำระบบนี้มารวบรวมสื่อการสอน ต่าง ๆ ที่ถูกผลิตขึ้นมาอย่างกระจัดกระจายมาตั้งแต่อดีตให้มาอยู่รวมกันเพื่อให้สามารถใช้ร่วมกันได้ และเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวข้างต้น จึงได้มีกระบวนการกำหนดมาตรฐานโลก โดยการรวบรวมมาตรฐานการผลิตโปรแกรมอีเลิร์นนิงต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วเข้าไว้ด้วยกัน เป้าหมายของการกำหนดมาตรฐานคือ การจัดให้มีแบบแผนหรือโครงสร้างข้อมูลจำเพาะ และเกณฑ์วิธีในการสื่อสารของสื่อการเรียนในรูปแบบอีเลิร์นนิงกับระบบงานหลาย ๆ ระบบ (Cross-system) ซึ่งเป็นการช่วยให้เกิดการใช้งานร่วมกันระหว่างโปรแกรมประยุกต์ (Applications) เช่น ระบบการจัดการเรียนรู้ (LMS หรือ Learning management system) และโปรแกรมจากผู้พัฒนาซอฟแวร์อื่น (3rd Party Applications) หรือเนื้อหาที่พัฒนาใช้เองในองค์กร (In-House developed content) โดยการให้แนวทางแบบแผนสำหรับการสื่อสารที่สามารถใช้ได้กับรูปแบบ ปัจจุบันจึงทำให้มีการจัดทำมาตรฐาน SCORM (The sharable content reference model) ซึ่งได้รับการพัฒนาการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิง ซึ่งประโยชน์จากมาตรฐาน SCORM นี้ สามารถนำเนื้อหาบทเรียนจากระบบบริหารการเรียนรู้หนึ่งมาใช้งานร่วมกับระบบบริหารการเรียนรู้อีกตัวหนึ่งได้ ทำให้การใช้งานนั้นไม่ขึ้นอยู่กับระบบปฏิบัติการ (Platform) ใด ๆ เนื้อหาบทเรียนที่สร้างขึ้นก็เหมาะสมกับความต้องการอีกทั้งยังเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

………..การพัฒนาเนื้อหาบทเรียนแบบอีเลิร์นนิง หรือแบบมัลติมีเดีย (Multimedia) ในปัจจุบันจะพัฒนาสื่อการเรียนการสอนโดยใช้สื่อดิจิทัล (Digital media) เป็นองค์ประกอบหลักและสามารถใช้งานได้เฉพาะระบบการจัดการเรียนรู้ของแต่ละวิชาหรือแต่ละเรื่องเท่านั้น เมื่อมีการพัฒนาระบบสารสนเทศให้ทันสมัยขึ้น การนำเสนอสื่อการเรียนการสอนก็ควรมีความทันสมัยขึ้นเช่นกัน แต่จากการสร้างสื่อการเรียนการสอนที่ผ่านมา เมื่อเทคโนโลยีทันสมัยขึ้น สื่อการเรียนการสอนที่เคยสร้างไว้ก็จะไม่เป็นที่นิยมนำมาใช้ เพราะเป็นสื่อการเรียนการสอนที่สร้างด้วยโปรแกรมที่ล้าสมัย หรือไม่สามารถใช้งานต่างระบบปฏิบัติการได้ ทำให้สื่อการเรียนการสอนชิ้นนั้นถูกยกเลิกไป แต่ถ้าวิชานั้นยังคงต้องมีสื่อที่ใช้ในการเรียนการสอนอยู่ ทำให้ต้องมีการสร้างสื่อการเรียนการสอนขึ้นมาใหม่ โดยผู้สร้างสื่อจะต้องสร้างสื่อดิจิทัลที่เป็นองค์ประกอบขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ไม่สามารถนำองค์ประกอบจากชิ้นงานเดิมกลับมาใช้ใหม่ได้ (Reusability) และไม่สามารถแลกเปลี่ยนเนื้อหา (Share Content) กันได้ ซึ่งต้องใช้เวลานานมากเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสื่อดิจิทัลที่ต้องการทั้งหมด ทำให้เสียเวลา เสียทรัพยากร และเสียค่าใช้จ่าย ในการย้ายเนื้อหาจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่ง การสร้างคลังสื่อมาตรฐานสูง จึงมีความจำเป็นท่ามกลางเทคโนโลยีและวัฒนธรรมในการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว