การเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาของกลุ่มประเทศอาเซียน

” ถ้าครูยังไม่เก่ง ครูจะเอาความเก่งที่ไหนให้เด็ก

ถ้าครูยังไม่มีอนาคต แล้วครูจะเอาอนาคตที่ไหนให้เด็ก…”

……….ภายใต้นโยบายการจัดการศึกษาอันเร่งด่วนเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้กรอบประชาคมอาเซียน ซึ่งดำเนินการวิจัยโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute : TDRI) ประเทศสมาชิกของอาเซียนทุ่มเททรัพยากรอย่างมากมายในการเตรียมความพร้อม และเพื่อปรับตัวเข้าสู่ภาวะการแข่งขันอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาและพัฒนากำลังคนและประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์เสรี และเพื่อเสนอแนะแนวทางหรือยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับรัฐบาลเองและมาตรการรองรับผลกระทบที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมสามารถนำไปปฏิบัติได้ อันเป็นผลจากการรวมตัวกันของประชาคมอาเซียน 

……….นโยบายทางการจัดการศึกษาท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ที่กระทรวงศึกษาธิการได้วางแผนการทำงานในกรอบการทำงานเร่งด่วน  คือ 1. ด้านความต้องการของตลาดแรงงานหรือสิ่งที่ผู้เรียนอยากได้ 2. ด้านองค์ความรู้ระดับอุดมศึกษาและการศึกษาสายอาชีวศึกษา ต้องเชื่อมโยงกับตลาดแรงงานและความต้องการของประเทศ และ 3. ด้านอัจฉริยภาพของเด็กแต่ละคนให้เรียนตามความถนัดมากขึ้นโดยต้องปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้นักเรียนสนใจการเรียนการสอนในห้องเรียนมากขึ้น

edutainment in classroom         ปัญหาด้านนโยบายการศึกษา เน้นความเป็นเลิศทางวิชาการจนบั่นทอนคุณภาพของผู้เรียน ด้วยการประเมินผลและตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาที่ยังไม่หลากหลาย เน้นการวัดผลจากคะแนนสอบเท่านั้น คัดแต่คนเรียนเก่ง จนอาจละเลยศักยภาพของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งเมื่อหลักสูตรผูกติดอยู่กับหลักสูตรแกนกลาง จึงทำให้องค์ความรู้ท้องถิ่นและความสามารถของนักเรียนที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมค่อย ๆ สูญหายไป

……....นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายปฏิรูปครูอย่างเร่งด่วน เพื่อยกฐานะให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงอย่างแท้จริง โดยปฏิรูประบบการผลิตครูให้มีคุณภาพทัดเทียมกับนานาชาติ สร้างแรงจูงใจให้คนเรียนดี และมีคุณธรรมเข้าสู่วิชาชีพครู ปรับปรุงระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนครู พัฒนาระบบความก้าวหน้าของครูโดยใช้การประเมินเชิงประจักษ์ที่อิงขีดความสามารถและวัดสัมฤทธิ์ผลของการจัดการศึกษาเป็นหลัก จัดระบบการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อพัฒนาคุณภาพครูอย่างต่อเนื่อง แก้ปัญหาหนี้สินครูโดยการพักชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ตามนโยบาย แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของรัฐบาล  พัฒนาระบบภูมิสารสนเทศเพื่อใช้ในการกระจายครู ขจัดปัญหาการขาดแคลนครูในสาระวิชาหลัก เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ แต่ด้วยข้อจำกัดของการขับเคลื่อนของระบบการศึกษาจากส่วนกลาง ซึ่งยังไม่ชัดเจนเพียงพอที่ครูจำนวนมากทั่วประเทศจะปรับรูปแบบการเรียนการสอนตามทิศทางของรัฐบาล ทำให้การปฏิรูปจากส่วนกลางเป็นไปอย่างเชื่องช้า จำเป็นต้องอาศัยการทำความเข้าใจ และพัฒนาศักยภาพของครูควบคู่กันไป

……….ผลกระทบที่อาจจะเกิดกับการศึกษาไทยเมื่อเปิดประชาคมเสรีอาเซียน (AEC) ในปี พ.ศ.2558 ซึ่งต้องมีการเปิดเสรีทางการศึกษา แต่ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการเตรียมตัวเปิดประเทศ เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะเรื่องของภาษา ที่ขณะนี้หลายประเทศเตรียมตัวเรื่องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง นอกจากนี้ยังมีหลายประเทศที่เตรียมตัวเรื่องภาษาที่สาม และขณะนี้ประเทศอินโดนีเซียเรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สามแล้ว

……….ความน่าสนใจของเกมคอมพิวเตอร์ในรูปแบบจำลองโลกเสมือนจริง 2 มิติเพื่อการศึกษาอยู่ที่การปรับการเรียนการสอนให้มีเนื้อหาหลากหลายโดยการนำเสนอในรูปแบบของเกม เพื่อถ่ายทอดผ่านช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยอาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวกลาง โดยสามารถสื่อสารทางเดียวหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนได้ จนทำให้การเรียนการสอนมีความน่าสนใจ สามารถทบทวนได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องอาศัยบุคลากรทางการศึกษาที่ความสามารถเป็นจำนวนมาก แต่กลับสามารถช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนได้ ซึ่งการเรียนการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่งนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในหลายประเทศทั่วโลก สำหรับเมืองไทยเองได้มีการริเริ่มนำระบบนี้เข้าไปช่วยเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนในห้องเรียนระยะหนึ่งแล้ว 

……….แต่อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญอีกด้านคือความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยที่ยังถูกประเมินความพร้อมด้าน ICT ให้อยู่ในประเทศกลุ่มที่สอง เทียบเท่าฟิลิปปินส์ เวียดนาม ดังนั้นการที่ไทยจะก้าวกระโดดได้ภายในระยะเวลา 5 ปี จึงต้องมีการเตรียมพร้อมในหลายด้านรัฐบาลควรใช้เวลา 5 ปีต่อจากนี้ มุ่งพัฒนาโครงสร้างสื่อเกมเพื่อการศึกษา เพื่อสนัสนุนการแข่งขันทางการศึกษาในประชาคมอาเซียน รวมทั้งนวัตกรรมทางการศึกษาด้านอื่นร่วมด้วย  เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือแนวโน้มเนื้อหาวิชาเรียนที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น 


แนวโน้มความล้าหลังของการศึกษาไทยในระดับนานาชาติ


……….ผลการประเมินนักเรียนระดับนานาชาติครั้งล่าสุดของ Program for International Student Assessment (PISA 2015) ซึ่งจัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยทักษะของนักเรียนไทยที่มีอายุ 15 ปี (ใกล้จะจบการศึกษาภาคบังคับ) นั้นอยู่ในกลุ่มท้าย ๆ ของประเทศที่เข้าร่วมในการประเมินในปี 2015 ซึ่งมีทั้งหมด 74 ประเทศ

……….โดยเฉลี่ยแล้ว นักเรียนไทยมีทักษะต่ำกว่านักเรียนในกลุ่มประเทศ OECD เทียบเท่าประมาณ 2.5 ปีการศึกษา และต่ำกว่ากลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) เกือบ 3 ปีการศึกษา (≈30 คะแนน เทียบเท่า 1 ปีการศึกษา) ในทุกสาขาวิชา และหากเปรียบเทียบผลคะแนนกับค่าใช้จ่ายต่อนักเรียนต่อปีของภาครัฐ (ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ชั้นประถม 1 ถึงชั้นมัธยม 3) พบว่าทักษะของนักเรียนไทยนั้นอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวภาครัฐในระดับเดียวกัน

……….ถึงแม้ว่าจะมีนักเรียนบางกลุ่มที่สามารถทำคะแนนได้ในระดับใกล้เคียงกับนักเรียนในประเทศชั้นนำในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่งเวียดนาม แต่นักเรียนไทยที่มีทักษะในระดับสูง (ทำคะแนนอยู่ในระดับ 5-6 ของการสอบ PISA) นั้นมีสัดส่วนน้อยมาก จากภาพที่ 2 เห็นได้ว่า ในขณะที่สิงคโปร์มีสัดส่วนนักเรียนที่มีทักษะสูงในด้านคณิตศาสตร์มากกว่า 1 ใน 3 ของนักเรียนทั้งหมด และเกือบ 1 ใน 4 ในด้านวิทยาศาสตร์ในปี 2015 แต่ประเทศไทยกลับมีสัดส่วนของนักเรียนที่มีทักษะสูงเพียงร้อยละ 1.4 ในด้านคณิตศาสตร์ และไม่ถึงร้อยละ 0.5 ในด้านวิทยาศาสตร์และการอ่านในทางกลับกัน และอาจน่าเป็นห่วงมากกว่า คือ เด็กนักเรียนไทยประมาณครึ่งหนึ่งมีทักษะต่ำกว่าระดับพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเข้าสู่โลกของการทำงานในปัจจุบัน หรือเพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป ถึงแม้ว่าจะผ่านการเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามาเกือบ 9 ปีเต็มแล้วก็ตาม ในขณะที่สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม มีนักเรียนที่มีทักษะต่ำกว่าระดับพื้นฐานเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก

……….นอกจากคุณภาพโดยรวมที่ตกต่ำแล้ว ประเทศไทยยังประสบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่มีอยู่สูง และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย ภาพที่ 3 แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของคะแนน PISA ในด้านวิทยาศาสตร์ และการอ่าน ระหว่างกลุ่มฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม (วัดโดยดัชนี Economic, Social, and Cultural Status หรือดัชนี ESCS ซึ่งทำขึ้นโดย PISA) และระหว่างนักเรียนในเมืองใหญ่กับนักเรียนในโรงเรียนประจำหมู่บ้าน

……….สำหรับการประเมินในปี 2012 และปี 2015 เห็นได้ว่า ช่องว่างของทักษะทางวิทยาศาสตร์ ระหว่างนักเรียนจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม (ดัชนี ESCS) ในกลุ่ม 20% บนสุด กับ 20% ล่างสุด เพิ่มขึ้นจาก 1.6 ปีการศึกษาในปี 2012 เป็น 1.8 ปีการศึกษาในปี 2015 ในขณะที่นักเรียนในโรงเรียนประจำหมู่บ้าน มีทักษะทางวิทยาศาสตร์ตามหลังนักเรียนในเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นจาก 1.1 ปีการศึกษา เป็น 1.8 ปีการศึกษาในช่วงเวลาเดียวกัน ในส่วนของทักษะการอ่าน กราฟด้านขวาในภาพที่ 3 ชี้ชัดว่าความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้นั้นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกมิติเช่นกัน โดยนักเรียนในโรงเรียนประจำหมู่บ้านนั้นมีทักษะตามหลังนักเรียนในเมืองใหญ่ถึงเกือบ 3 ปีการศึกษา และนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มฐานะ ESCS 20% ล่างสุด ตามหลังนักเรียนในกลุ่ม 20% บนสุดถึง 2.3 ปีการศึกษา ในการประเมินในรอบปี 2015

……….การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร และทักษะเฉพาะอาชีพ ซึ่งเป็นทักษะที่องค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์การ การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้ความสำคัญ ส่วนในวงการศึกษาไทยมองว่า ครู คือ กุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา แต่ปัจจุบันพบว่า ความเป็นครูในสังคมไทยกำลังเผชิญกับคำถามจากสังคมหลายด้าน ทั้งคุณภาพของผู้ที่มาเรียนวิชาชีพครู การไม่มีสถาบันการศึกษาที่ผลิตครู โดยเฉพาะหลักสูตรวิชาชีพครูในสถาบันที่ผลิตครู คุณภาพของบัณฑิตครูเมื่อจบการศึกษา รวมถึงการพัฒนา ครูที่ยังไม่ถูกปรับให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน เช่น ลักษณะของพลเมืองในอนาคตที่ประเทศต้องการเป็นอย่างไร ครูต้องจัดการเรียนการสอนอย่างไรจึงจะทำให้ นักเรียนมีลักษณะเหล่านั้น และจะพัฒนาครูอย่างไร เป็นต้น  โดยปัจจัยที่เป็นอุปสรรคของการทำหน้าที่ครู ได้แก่ การขาดทักษะทางด้านไอซีที โดยครูจำนวนมากยังขาดทักษะด้านนี้ จึงทำให้รับรู้ข้อมูลหรือมีแหล่งค้นคว้าข้อมูลน้อยกว่านักเรียน นอกจากนี้สื่อการสอน ที่มีแค่หนังสือหรือตำราอาจตอบสนองการรับรู้และความต้องการของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้เต็มที่ ขณะที่ครูรุ่นเก่าไม่ปรับตัวให้เข้ากับลักษณะของผู้เรียนที่เปลี่ยนไป ไม่ปรับวิธีการสอน ไม่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเสริมการจัดการ เรียนรู้ ให้มีประสิทธิภาพ


ความเหลื่อมล้ำของทรัพยากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่ระเบียงการศึกษา


……….สิ่งที่ดูน่าเป็นห่วงมากกว่าคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ (รวมทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ) ซึ่งเป็นปัญหาวิกฤติสำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนมาจากครอบครัวที่เสียเปรียบด้านฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม จากงานวิจัยเรื่องระบบการศึกษาไทยของธนาคารโลก พบว่าปัญหาการขาดแคลนครูและปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรครูที่มีคุณภาพให้ทั่วถึงนั้นเป็นปัจจัยหลักเบื้องหลังคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำและความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่สูงในประเทศไทย นอกจากปัญหาด้านคุณภาพที่เกิดจากการขาดแคลนครูแล้ว จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่เป็นจำนวนมากยังหมายความถึงการใช้จ่ายทางการศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเห็นได้จากสัดส่วนนักเรียนต่อครูที่ต่ำมากในโรงเรียนประถม ดังนั้น ภาพรวมของโรงเรียนไทยที่มีห้องเรียนขนาดเล็กและมีจำนวนนักเรียนต่อครูต่ำนั้นมิได้สะท้อนถึงคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่ดี แต่ตรงกันข้าม กลับสะท้อนถึงปัญหาการขาดแคลนครูและการจัดสรรทรัพยากรครู (และทรัพยากรทางการศึกษาอื่นๆ) ที่ไร้ประสิทธิภาพในระบบการศึกษาไทย

……….ปัญหานี้นับวันจะรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากอัตราการเกิดที่ลงลงอย่างต่อเนื่อง ดังภาพแสดงกราฟขนาดของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ในปี 2010 และ 2015 เห็นได้ว่าจำนวนโรงเรียนประถมที่มีนักเรียนต่ำกว่า 50 คนนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่มีสัดส่วนร้อยละ 15 ในปี 2010 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 22 ภายในเวลาเพียง 5 ปี ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นนี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทั้งสำหรับโรงเรียนประถมและมัธยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากจำนวนประชากรนักเรียนจะลดลงไปอีกประมาณ 1.2 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่อนักเรียนต่อปีของภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ภาพที่ 6 แสดงให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ชั้นประถม 1 ถึงชั้นมัธยม 3 ต่อนักเรียนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48 ภายในเวลาเพียง 3 ปี จากปี 2010 ถึงปี 2013 และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 143 จากปี 2001 (ข้อมูลแสดงเป็น USD ต่อนักเรียนต่อปี โดยปรับเป็นค่าเงินคงที่ในปี 2013 และปรับตามค่าครองชีพที่แตกต่างกันระหว่างประเทศ) ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยเลยแม้แต่น้อย ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น เวียดนาม ได้เริ่มกำหนดและบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำทางด้านทรัพยากรทางการศึกษา และการบริหารจัดการที่ดี ที่ทุกโรงเรียนพึงมี (Fundamental School Quality Level หรือ FSQL) ตั้งแต่ปี 2001 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพโรงเรียนที่อยู่ในระดับสูงในขณะนั้น และเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยรวม ซึ่งเวียดนามสามารถทำสำเร็จได้ภายในเวลาเพียง 10 ปี โดยไม่ได้ใช้ทรัพยากรมากมายเลย

……….ดังนั้น การที่เรามีโรงเรียนประถมถึงร้อยละ 63 ที่มีครูไม่ครบชั้น (ยังไม่ต้องพูดถึงครูครบวิชา) จึงสะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการทรัพยากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำและมีความเหลื่อมล้ำสูงสังคมต้องตัดสินใจว่า จำเป็นหรือไม่ที่ประเทศไทยจะต้องกระจายทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปสู่โรงเรียนกว่า 30,000 แห่ง ในสภาวะที่จำนวนนักเรียนมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว และร้อยละ 85 ของโรงเรียนขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่ขาดแคลนทรัพยากรนั้น อยู่ในระยะทางที่สามารถเดินทางถึงโรงเรียนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกันได้ภายในเวลาไม่เกิน 20 นาที หรือเราควรจะมีโรงเรียนจำนวนน้อยลง แต่เป็นโรงเรียนที่มีขนาดพอเหมาะ มีอุปกรณ์การเรียนการสอนและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีครูที่มีคุณภาพในจำนวนที่เพียงพอ และตั้งอยู่ตามพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่นักเรียนสามารถเดินทางถึงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

……….ความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพการศึกษาไทยยังปรากฏความแตกต่างมากยิ่งขึ้น ขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ ทรัพยากร งบประมาณ โดยเฉพาะในโรงเรียนที่ห่างไกลในชนบท ในขณะที่ส่วนกลางยังคงมีความขัดแย้งแตกต่างในเรื่องการถ่ายโอนโรงเรียนจนนำเข้าไปสู่การชะลอตัวของความร่วมมือช่วยเหลือกันในแทบทุกด้านในระยะเวลาที่ผ่านมาคุณภาพการศึกษามีสภาพด้อยลงมากยิ่งขึ้น โครงสร้างระบบที่รื้อปรับใหม่ไม่เกิดเรื่องการกระจายอำนาจทางการศึกษาในทางปฏิบัติมากนัก วัฒนธรรมองค์กรยังเหมือนเดิม เป็นระบบราชการศึกษา อนุรักษนิยม และติดกรอบการทำงานเชิงระเบียบกฎเกณฑ์แบบแผนดั้งเดิมที่สั่งสมกันมา นวัตกรรมแนวคิดใหม่ๆ ไม่สามารถสอดแทรกเข้าสู่กระแสหลัก ระบบใหญ่ที่ปฏิบัติกันจนเคยชินได้มากนัก กระบวนการเรียนรู้ก็ยังคงให้ยึดตามคู่มือครูจากส่วนกลางโดยครูเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดเวลา แต่ก็เรียกร้องให้ครูใช้การเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง


 ครูยังขาดความพร้อมในการใช้สื่อ การสร้างสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ


……….ครูผู้สอนส่วนใหญ่จึงยังขาดความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสร้างสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาผู้เรียน จึงต้องเริ่มจากการพัฒนาครูก่อน ครูสายปฏิบัติการสอนมักปราศจากการวางแผนในการพัฒนาความรู้หรือวิชาชีพตนเอง เนื่องจากผลงานวิชาการที่ใช้พิจารณาวิทยฐานะความก้าวหน้าของวิชาชีพครูในระบบราชการไม่ได้มีความเข้มข้นเหมือนดังข้าราชการในระดับอุดมศึกษา แนวคิดในการเพิ่มพูนองค์ความรู้ของครูจึงมีแรงจูงใจน้อย

……….ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำทีมแถลงผลการศึกษาโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างความรับผิดชอบ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คณะนักวิจัย ชี้ว่า ปัญหาของระบบศึกษาไทยคือปัญหาการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ใช้ทรัพยากรมากแต่ผลสัมฤทธิ์ต่ำ ดังที่ข้อมูลชี้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และไม่น้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่รายได้ต่อเดือนของครูที่มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรีและสอนในโรงเรียนรัฐก็เพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ผลคะแนนการทดสอบมาตรฐานของนักเรียนไทยทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติกลับมีแนวโน้มลดต่ำลง


สภาพปัญหาเรื้อรังด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา


.

……...ปัญหาด้านบุคลากร บุคลากรขาดความรู้ความเข้าใจในการผลิตสื่อดิจิทัลเพื่อการศึกษา ขาดทักษะด้านสื่อมัลติมีเดียและอินเทอร์แรกทีฟแบบเรียลไทม์ บุคลากรขาดประสบการณ์ในการใช้สื่อนวัตกรรมทางการศึกษา ไม่เข้าใจและรู้จักวิธีการใช้สื่อหรือนวัตกรรมการสอนที่ทางส่วนกลางส่งมาให้ ขาดความชำนาญในการใช้สื่อดิจิทัลสมัยใหม่ ขาดสื่อประกอบการเรียนที่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน แนวทางแก้ไข คือสร้างความตระหนักในการพัฒนาวิชาชีพด้านการผลิตสื่อดิจิทัลเพื่อการศึกษาของบุคลากรทางการศึกษา ส่งเสริมให้ครูเข้าร่วมการอบรมสัมมนา ส่งเสริมให้เกิดการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง เพื่อให้ความรู้และประสบการณ์ในการผลิตและใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการศึกษามีมากขึ้น

……….ปัญหาด้านวัสดุ อุปกรณ์ และงบประมาณ เกี่ยวกับนวัตกรรม คือ ขาดงบประมาณในการพัฒนานวัตกรรม ขาดวัสดุ – อุปกรณ์และงบประมาณที่จะพัฒนาสื่อนวัตกรรม การจัดหา การใช้ การดูแลรักษาและขาดงบจัดหาสื่อทันสมัย แนวทางการแก้ไข เพิ่มงบประมาณให้เพียงพอ ให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องจัดหางบประมาณสนับสนุน สำนักงานเขตพื้นที่ต้องช่วยดูแลและให้ความช่วยเหลือจัดสรรงบประมาณได้ เพื่อใช้ในการพัฒนานวัตกรรมให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น และระดมทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น มาช่วยสนับสนุน

……….ปัญหาด้านสภาพแวดล้อม และสถานที่การใช้นวัตกรรม สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปยังไม่เหมาะสมกับการใช้สื่อ เนื่องจากความยุ่งยากและไม่คล่องตัว มีสถานที่ไม่เป็นสัดส่วน ไม่มีห้องที่ใช้เพื่อเก็บรักษาสื่อ นวัตกรรมเป็นการเฉพาะ ทำให้การดูแลทำได้ยากและขาดการพัฒนาที่ต่อเนื่อง แนวทางการแก้ไข คือ ใช้สื่อนวัตกรรมตามความเหมาะสมของเนื้อหาวิชาตามความยากง่ายของเนื้อหา จัดทำห้องสื่อเคลื่อนที่ แบ่งสื่อไปตามห้องให้ครูรับผิดชอบ ควรจัดหาห้องเพื่อการนี้เป็นการเฉพาะ

……….ปัญหาด้านสภาพการเรียนการสอน เด็กมีความแตกต่างกันด้านสติปัญญา และด้านร่างกาย ปัญหาครอบครัวแตกแยก เด็กอาศัยอยู่กับญาติ มีเนื้อหาวิชาที่มากและสาระ การเรียนการสอนแต่ละครั้งไม่ต่อเนื่อง นักเรียนบางคนไม่สบายใจในกิจกรรม และทำไม่จริงจังจึงมีผลต่อการจัดกิจกรรม นักเรียนต้องเข้าคิวรอนานกับนวัตกรรมบางชนิด และสภาพการเรียนการสอน ครูยังยึดวิธีการสอนแบบเดิม คือ บรรยายหน้าชั้นเรียน แต่ส่วนใหญ่มีแนวโน้มในการพัฒนาที่ดีขึ้น ครูยังไม่มีการนำสื่อนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง แนวทางการแก้ไข คือ จัดกลุ่มให้เพื่อนช่วยเพื่อน คอยกำกับแนะนำช่วยเหลือ จัดครูเข้าสอนตามประสบการณ์ความถนัด ควรจัดอบรมเพื่อให้ความรู้ จัดทำนวัตกรรมที่มีโอกาสเป็นไปได้ และสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชน สอนเพิ่มเติมนอกเวลา และจัดการสอนแบบรวมชั้น โดยใช้กระบวนการเรียนการสอนตามช่วงชั้น

……….ปัญหาด้านการวัดผลและประเมินผล คือ บุคลากรขาดความรู้ในการที่จะนำสื่อนวัตกรรมมาใช้ในการวัดผลและประเมินผล นักเรียนที่ไม่ค่อยสนใจหรือไม่ชอบกิจกรรมก็จะมีผลต่อการจัดผลประเมินผล ขาดนวัตกรรมสื่อคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต การวัดประเมินผล ครูส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการทำแบบทดสอบ แบบปรนัย แนวทางการแก้ไข จัดทำแบบสอบถามสุ่มเป็นรายบุคคล เพศชาย หญิง เน้นนักเรียนได้ฝึกปฏิบัติจริง และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง จัดแบบทดสอบที่หลากหลาย ทั้งแบบปรนัย และอัตนัย และประเมินผลตามสภาพจริง ประเมินผลงานจากแฟ้มสะสมงาน

……….ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น มีการยกเลิกความรู้บางอย่างในการผลิตสื่อดิจิทัลทางการศึกษาที่สำคัญคือ การประกาศยกเลิกการพัฒนา Adobe Flash ซึ่งก่อนหน้านั้น การพัฒนาสื่อดิจิทัลทางการศึกษาส่วนใหญ่จะใช้สคริปต์ Flash ครูจำนวนมากผ่านการอบรมการเขียนโปรแกรมเกมเพื่อการศึกษาด้วย Adobe Flash เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในช่วงระยะเวลาอันสั้น ทำให้ครูต้องเริ่มต้นฝึกฝนการสร้างสื่อการสอนด้วยเครื่องมือใหม่ ๆ

  1. ที่มาภาพประกอบ https://www.siriwitthaya.ac.th/room.html   
  2. ที่มาภาพประกอบ http://www.sirinusorn-school.com/index.php?lay=show&ac=photo_view&event_id=25401

One comment on “การเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาของกลุ่มประเทศอาเซียน”

  • Avatar
    admin February 24, 2024
    Reply

    Hi, this is a comment.
    To get started with moderating, editing, and deleting comments, please visit the Comments screen in the dashboard.
    Commenter avatars come from Gravatar.

Write a comment